วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บันทึกครั้งที่5

                         ไม่มีการสอนเนื่องจาก หยุด วันพ่อ

ประวัติความเป็นมา
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อ เนื่อง จากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบ แทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ อีกทั้งยังทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและ พระราชธิดาที่ทรงรักใคร่ห่วงใย ตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน และพระเจ้าหลานเธอทุก ๆ พระองค์ต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระ เมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้


พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านการศึกษา

ในหลวง - King of Thailand
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่าง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้น ๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

H.M.K picture นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่น ๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่าง ๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต

โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้น ๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น